คอลัมน์ : นั่งคุยกับห้องค้า
ผู้เขียน : ภาณี กิตติภัทรกุล, กฤติกา บุญสร้าง, กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ธนาคารกสิกรไทย
ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนซ้ำเติมเศรษฐกิจและการค้าโลกที่กำลังจะผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 และเร่งความกังวลต่อเงินเฟ้อ ในขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และธนาคารกลางอื่น ๆ กำลังปรับไปสู่นโยบายแบบตึงตัว ภาวะ “stagflation” และ “inverted yield curve” จึงเป็นความกังวลสำคัญที่ตลาดจับตามองอย่างใกล้ชิดในเวลานี้
โอกาสเกิดเศรษฐกิจถดถอย
stagflation คือ สภาวะเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำและเงินเฟ้อสูง ด้วยการระบาดของไวรัสโควิด-19 กดดันการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก และทำให้โลกเผชิญกับภาวะคอขวดด้านการผลิต แรงงานหายไป โครงสร้างตลาดแรงงานเปลี่ยนแปลงไป และการขาดแคลนสินค้าบางประเภท ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูงจากปัจจัยด้านการผลิตเป็นสำคัญ
ท่ามกลางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปตามปัจจัยพื้นฐาน นานาประเทศต้องเผชิญภาวะเงินเฟ้อปรับขึ้นสูงเริ่มตั้งแต่ปลายปี 2021 ประกอบกับประเด็นความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้น เพิ่มความกังวลว่าเงินเฟ้อจะเร่งตัวสูงขึ้นอีก
ในขณะที่ไทยเผชิญภาวะเงินเฟ้อสูงเช่นกัน เนื่องราคาพลังงานที่ปรับสูงตามราคาพลังงานโลก อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันไทยยังไม่ได้จัดว่าเข้าสู่ภาวะ stagflation แต่หากมองไปข้างหน้า หากราคาพลังงานยังสูงต่อเนื่อง ส่งผลต่อภาคการผลิต และทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้นต่อเนื่อง มีแนวโน้มจะทำให้อุปสงค์และกำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ระมัดระวังการใช้จ่าย และเก็บออมเพิ่มขึ้น ซึ่งสุดท้ายจะเป็นปัญหาที่วนเป็นวงกลมแก้ได้ยาก
ทั้งนี้ เงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็วกดดันให้ธนาคารกลางหลายประเทศไม่อาจนิ่งเฉยได้อีกต่อไป เนื่องจากธนาคารกลางส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายสู่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจผูกติดอยู่กับเป้าหมายเงินเฟ้อ จึงทำให้ธนาคารกลางหลายแห่งต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย สร้างความกังวลต่อเนื่องไปถึงภาวะ inverted yield curve
ซึ่งเกิดขึ้นเมื่ออัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาวต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้น ส่งสัญญาณถึงโอกาสที่อาจเกิดภาวะถดถอย (recession) ได้ในระยะถัดไป เนื่องจากในภาวะปกติพันธบัตรรัฐบาลที่ระยะยาวจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น จากความเสี่ยงที่มากกว่าเป็นปัจจัยสำคัญ
ในสถานการณ์ inverted yield curve นักลงทุนมักจับตาดูส่วนต่างผลตอบแทนระหว่างพันธบัตรรัฐบาลอายุ 2 ปี และ 10 ปี (2Y-10Y spread) เป็นตัวชี้วัด โดยส่วนต่างดังกล่าวของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ ปัจจุบันอยู่ที่ราว 17 bps เท่านั้น จากราว 90 bps ในช่วงต้นปี
ซึ่งส่วนต่างดังกล่าวปรับแคบลงเรื่อย ๆ และลดลงมากภายหลังจากที่ประธานเฟด เจอโรม พาวเวลล์ กล่าวว่า เฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 0.5% เพื่อชะลอเงินเฟ้อ ในขณะที่คาดการณ์มุมมองการขึ้นดอกเบี้ยของสมาชิกเฟดผ่าน dot plot สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยทั้งหมด 7 ครั้งในปีนี้ หมายความว่าเฟดมีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยในทุกการประชุมอีก 6 ครั้งที่เหลือในปีนี้
ทั้งนี้ ปัจจุบันคาดการณ์นักเศรษฐศาสตร์จากผลสำรวจของบลูมเบิร์กประเมินโอกาสที่สหรัฐ อาจเกิดภาวะถดถอยที่ 20% สะท้อนถึงความพยายามของเฟดในการทำ soft landing มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็น crash landing ได้ ในขณะที่ผลสำรวจของไทยชี้ว่าโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยอยู่ที่ 10%
โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังไม่มีท่าทีจะขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ ตามเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด แม้จะมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อด้านอุปทานเป็นความเสี่ยง อย่างไรก็ตาม ความเปราะบางของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยและสถานการณ์ในต่างประเทศอาจส่งผลกระทบต่อไทยได้ และเป็นปัจจัยที่ต้องจับตามองต่อไป
อ้างอิง
https://www.prachachat.net/finance